วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โครงงานคณิตศาสตร์

          โครงงานเป็นกิจกรรมที่นักเรียนสนใจศึกษาค้นคว้าขึ้นเองเป็นพิเศษภายใต้การให้คำแนะนำแสนอแนะแนวทางของครู โครงงานอาจมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับสาระการเรียนรู้ในบทเรียนโดยตรงเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ หรือเป็นการขยายฐานความรู้จากบทเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้โครงงานยังอาจเป็นกิจกรรมที่นักเรียนสนใจศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกเป็นการเฉพาะซึ่งมีความเชื่อมโยงหรือบูรณาการกับสาระหลายสาระก็ได้          การจัดทำโครงงานของนักเรียนโดยทั่วไปต้องอาศัยทักษะ   
           กระบวนการทางคณิตศาสตร์เช่นเดียวกันกับการทำงานวิจัยของผู้ใหญ่ซึ่งต้องอาศัยกาคิดขั้นสูง สำหรับนักเรียนที่เริ่มต้นเรียนรู้การทำโครงงาน ถ้าเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนจัดทำโครงงานที่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ครบถ้วนทำนองเดียวกันกับงานวิจัยจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้การจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรกกิจกรรมโครงงาน ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่นำการจัดทำโครงงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยการแนะนำโครงงานที่มีองค์ประกอบง่ายๆ สอดรับกับกิจกรรมการเรียนและการทำแบบฝึกหัดตามปกติ แล้วค่อยๆ เพิ่มองค์ประกอบให้มากขึ้นจนกระทั่งสมบูรณ์ตามรูปแบบของการจัดทำโครงงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญของบทเรียนและการเชื่อมโยงความรู้ผ่านการทำโครงงาน ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้วิธีการทำโครงงานแบบค่อยเป็นค่อยไป สามารถจัดทำโครงงานในลักษณะที่มีความเชื่อมโยงกับสาระในบทเรียนและครอบคลุมถึงการประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมโครงงานสามารถแบ่ง ได้เป็น 4 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 เริ่มเรียนรู้สู่โครงงานเบื้องต้น : ฝึกการตั้งชื่อโครงงาน กำหนดจุดประสงค์ ระบุสาระคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และเขียนผลการดำเนินงาน
ระยะที่ 2 ฝึกฝนเติมสาระและระบุวิธีดำเนินงาน : เพิ่มเติมรายละเอียดของสาระคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และเขียนวิธีดำเนินงานในการจัดทำโครงงาน
ระยะที่ 3 สอดประสานทำโครงงานที่สมบูรณ์ : เพิ่มเติมองค์ประกอบที่สำคัญของโครงงานให้สมบูรณ์ ได้แก่ ความเป็นมา ระยะเวลาดำเนินงาน สรุปและข้อเสนอแนะ
ระยะที่ 4 เพิ่มพูนประสบการณ์ทำโครงงานที่สนใจ : เพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการจัดทำโครงงานประเภทต่างๆ นอกเหนือไปจากการจัดทำโครงงานที่สอดคล้องกับบทเรียนในกรอบของจุดประสงค์การเรียนรู้ เปิดโอกาสนักเรียนมีอิสระในการทำโครงงานอย่างเต็มที่
จุดมุ่งหมายการทำโครงงานคณิตศาสตร์
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความสามารถตามศักยภาพของตน
- เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลวิชาคณิตศาสตร์ตามจุดประสงค์การเรียนรู้
- ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง
- ส่งเสริมให้มีอิสระทางความคิดเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์
- ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม
- บูรณาการเนื้อหาคณิตศาสตร์กับสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือเนื้อหาในกลุ่มและนอกกลุ่มประสบการณ์ ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง
- สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
- สร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์
คุณค่าของโครงงานคณิตศาสตร์
การเรียนรู้โดยกิจกรรมโครงงานคณิตศาสตร์ นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านการฝึกให้ผู้เรียนมีความรู้ ความชำนาญและมีความมั่นใจในการนำเอาวิธีการทางคณิตศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหา ประดิษฐ์ คิดค้น หรือค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง ยังมีคุณค่าในด้านอื่นๆ อีกมาก ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- สร้างจิตสำนึกฝึกใฝ่รู้ใฝ่เรียน
- พัฒนาความสามารถให้เต็มศักยภาพ
- เรียนรู้อย่างลุ่มลึกในเรื่องที่อยากรู้
- ส่งเสริมผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษได้แสดงความสามารถ
- กระตุ้นให้สนใจเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น
- ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
- สร้างสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้เรียน และเพื่อน
- เผยแพร่ให้ชุมชนรับรู้ หันมาสนใจงานคณิตศาสตร์มากขึ้น